แกะรอย "มือตบ" จากขอบสนามสู่ปรากฏการณ์กู้ชาติ
 
โดย ผู้จัดการรายวัน 24 กันยายน 2551 13:06 น. 
 
 
       ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ การชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านรัฐบาลอย่างเข้มข้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสีสันที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ‘ปรากฏการณ์มือตบกู้ชาติ’ ซึ่งกำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศ จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ‘มือตบ’ อันเล็กๆ นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และเพราะอะไรจึงเกิดเป็นกระแสมือตบฟีเวอร์
      
       จีนผลิต แต่ไปฮิตในสหรัฐ
      
       ‘มือตบ’ หรือ ‘hand clapper’ มีต้นกำเนิดที่ประเทศจีนเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นของเล่นสำหรับเด็กๆ ที่พ่อแม่มักซื้อให้ลูกหลานเล่น ต่อมาในปี ค.ศ. 1963 เมื่อ ‘นางแจ็คการีน เคนเนดี้’ ภริยาสาวสวยของ ‘จอห์น เอฟ เคนเนดี้’ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการในฐานะทูตวัฒนธรรมการศึกษา นางได้ไปเห็นมือตบพลาสติกที่เด็กๆ ชาวจีนเล่นแล้วเกิดความประทับใจจึงได้นำกลับไปที่สหรัฐอเมริกาด้วย แต่ช่วงนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในสหรัฐฯแต่อย่างใด
      
       จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1984 มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 23 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กองทัพนักกีฬาจีนได้นำมือตบไปมอบเป็นของขวัญแก่รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมทั้งนำไปใช้เป็นอุปกรณ์เชียร์ในกีฬาประเภทต่างๆ ที่นักกีฬาชาวจีนลงแข่งขัน ทำให้คนอเมริกันหันมาสนใจและกลายเป็นกระแสฮือฮา มีการนำมือตบไปใช้ในการเชียร์กีฬาต่างๆ ของอเมริกาอย่างกว้างขวาง แม้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะเสร็จสิ้นไปแต่ความนิยมต่ออุปกรณ์เชียร์ชนิดนี้ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าสหรัฐอเมริกาถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีการสั่งซื้อมือตบจากประเทศจีนมากที่สุด
      
       ด้วยความนิยมในการนำไปใช้เชียร์กีฬาหลากหลายชนิด ทำให้รูปทรงของมือตบพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากรูปมือคนที่ทำออกมาในช่วงแรก ๆ จีนก็เริ่มทำออกมาเป็นรูปอุปกรณ์กีฬาต่างๆ เพื่อให้เข้ากับการเชียร์กีฬาประเภทนั้นๆ เช่น ลูกฟุตบอล ลูกบาสเก็ตบอล ลูกรักบี้ ลูกเทนนิส และบางครั้งทางสโมสรกีฬาก็สั่งทำมือตบที่มีโลโก้ของสโมสรขึ้นมาเพื่อจำหน่ายให้แก่บรรดาแฟน ๆ กีฬาโดยเฉพาะ เมื่อรูปทรงของมือตบเปลี่ยนไป ‘hand clapper’จึงถูกเรียกว่า ‘clapper’ ซึ่งแปลว่าเครื่องสั่นกระทบแทน
      
       พี เจมส์ ผู้จัดการบริษัทนำเข้าและจำหน่ายของเล่นเด็กแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า “หลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 23 ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ คนก็ฮิตเล่นมือตบกันมากจนมีการนำมือตบมาใช้ในการเชียร์กีฬาของโรงเรียนในระดับ middle school (มัธยมต้น) และ high school (มัธยมปลาย) อยู่ถึง 4-5 ปี หลังจากนั้นก็หายไป แต่ในส่วนของคนทั่วๆ ไปก็นิยมนำไปใช้เชียร์กีฬาต่างๆ แทบทุกประเภท ฮิตกันอยู่นานมากทีเดียวแล้วก็ค่อยๆ ซาไป จนเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วจึงเริ่มกลับมาใหม่ แต่ไม่ได้ใช้เป็นอุปกรณ์เชียร์แล้ว จะนิยมใช้เป็นของเล่นเด็กมากกว่า เด็กเล็กๆ หรือเด็กวัยรุ่นก็เล่นได้หมด ผู้ใหญ่บางคนก็เอามาเคาะเล่นกันในงานปาร์ตี้ ขนาดก็จะเล็กลงกว่าแต่ก่อนมาก แต่รูปทรงจะมีหลากหลายขึ้น นอกจากรูปมือและรูปอุปกรณ์กีฬาแล้ว ก็ยังทำเป็นรูปดาว ตัวการ์ตูน ผัก ผลไม้ สารพัดแบบ แบบอันจิ๋วๆ ขายเป็นแพ็ค แพ็คละ 4-5 อันก็มี”
      
       อย่างไรก็ดี มีเรื่องน่าแปลกว่าสำหรับประเทศจีนซึ่งเป็นต้นกำเนิดและผู้ผลิต clapper ออกจำหน่ายแล้วกลับไม่มีผู้นิยมนำมือตบมาใช้ในการเชียร์กีฬาเลย สำหรับชาวจีนนั้นมือตบเป็นเพียงของเล่นเด็กที่มีให้เห็นอยู่บ้างเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว และการผลิตมือตบของโรงงานพลาสติกในประเทศจีนก็เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น 

                                
 
       พันธมิตรฮือฮา เพราะมหาจำลอง
       
       ส่วนกระแสมือตบที่กลายเป็นสินค้าสุดฮิตที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ต้องมีติดมือถือไว้เคาะเชียร์ผู้ปราศรัยบนเวที และเคาะประกอบจังหวะดนตรีในช่วงที่มีการแสดงดนตรีสลับฉากสร้างความครึกครื้นให้แก่การชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่าร้อยวันนั้น พบว่ามีจุดเริ่มมาจากแม่ค้าริมฟุตบาทเพียงเจ้าเดียวที่นำ ‘มือตบ’ มาขายคู่กับ ‘ทรัมรินรูปปลา’ อุปกรณ์เชียร์ที่ขายดิบขายดีในช่วงแรกๆ ของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ
      
       ความนิยมที่มีต่อมือตบหลากสีสันเริ่มเพิ่มขึ้นหลังจากที่พันธมิตรฯเคลื่อนพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์มาปิดล้อมและชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลซึ่งเรียกขานกันว่า ‘ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย’ ด้วยความรู้สึกถึงพลังแห่งความรักชาติที่ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งจนสามารถผ่านพ้นภารกิจแรกที่นับว่าสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะและอาจได้รับอันตรายจากการบาดเจ็บ ทำให้ภาพการชูมือตบขึ้นเคาะรัวเพื่อประกาศความสำเร็จช่างเป็นภาพที่งดงามในความรู้สึกของมวลชน นับแต่นั้นมือตบก็เริ่มเป็นสินค้าขายดีและถือเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนอมินี
      
       แต่กระแสความนิยมชนิดถล่มทลายนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเวทีตอบโต้ข้อกล่าวหาของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯมี ‘มือที่มองไม่เห็น’ อยู่เบื้องหลัง โดย พล.ต.จำลอง ตอบโต้ว่า “ ถ้าจะมีมือที่สนับสนุนการชุมนุมของพันธมิตรก็คงมีแต่เพียง ‘มือตบ’ ที่พี่น้องพันธมิตรฯถืออยู่เท่านั้น” พร้อมกับชูมือตบขึ้นมา เรียกเสียงเฮลั่นจากพันธมิตรฯเรือนหมื่นเรือนแสนที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ‘มือตบ’ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ตามแนวสันติ อหิงสา ซึ่งผู้ชุมนุมต่างพากันพกพาติดตัวไม่ต่างจากปืนของทหารหาญและไม้กระบองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้ยอดขายมือตบพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผู้ค้ารายย่อยมากมายที่พากันเข้ามาตั้งโต๊ะ-ปูเสื่อขายมือตบในที่ชุมนุมพันธมิตรฯ ซึ่งก็ขายดีกันชนิดที่มีมาเท่าไรก็หมดเลยทีเดียว
      
       ชญาบุญ เพชรพรหม หรือ ‘พี่กอบ’ เจ้าของโรงแรมซีเคปบีชรีสอร์ท ซึ่งทิ้งงานโรงแรมที่เกาะสมุยให้ลูกน้องดูแล และเข้ามาปักหลักชุมนุมกับพันธมิตรฯ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันแรกของการชุมนุมพันธมิตรฯภาค 2 และได้ร่วมชุมนุมมาจนถึงปัจจุบัน เล่าถึงปรากฏการณ์ ‘มือตบกู้ชาติ’ ว่า  
 
       “จำได้ว่าช่วงที่เคลื่อนจากราชดำเนินมาปักหลักที่มัฆวานฯ ช่วงแรกๆยังไม่มีอุปกรณ์เชียร์มาขายเลย เราก็จะใช้ขวดน้ำเปล่าๆ ใส่ถั่วเขียวเคาะกัน จากนั้นก็มีมาขายบ้างประปราย ที่นิยมจะเป็นทรัมรินรูปปลา แต่แรกเลยคนที่ขายมือตบมีอยู่เจ้าเดียว นั่งขายอยู่ข้าง UN เขาเอามาขายแค่นิดหน่อย เพราะเขาขายทรัมรินเป็นหลัก เพิ่งจะมาฮิตจริงๆ ตอนลุงจำลองพูดบนเวทีเรื่องมือที่มองไม่เห็นน่ะแหล่ะ ตอนนี้ก็มีคนโทร.มาฝากพี่ซื้อเต็มไปหมด” (หัวเราะ)
       
       มือตบฟีเวอร์
      
       ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับบรรดาผู้ค้าอุปกรณ์เชียร์ต่างๆ พบว่าจริงๆ แล้ว ‘มือตบ’ เป็นอุปกรณ์เชียร์ที่มีการนำเข้ามาขายในประเทศไทยได้ประมาณปีกว่าแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นสถานศึกษาซึ่งนำไปใช้ในการเชียร์กีฬาของโรงเรียน และสินค้าตัวนี้เพิ่งจะมาบูมในช่วงการชุมนุมของพันธมิตรฯเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ค้ารายย่อยสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้การนำเข้ามือตบจากประเทศจีนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีโรงงานพลาสติกในไทยหลายแห่งเล็งเห็นช่องทางทำกำไรจึงหันมาผลิตมือตบออกจำหน่ายในช่วงนี้ด้วย
      
       นิรันดร์ เห็นการไกล เจ้าของห้างหุ้นส่วน จำกัด โค้วเต็กเช้ง พ่อค้าส่งสินค้ากิ๊ฟช็อปย่านสำเพ็ง เล่าถึงเส้นทางการค้าของมือตบกู้ชาติให้ฟังว่า
      
       “สำเพ็งถือเป็นแหล่งขายมือตบที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ ถ้ามือตบจากจีนก็ต้องมาสั่งที่นี่ อย่างที่ร้านนำเข้าสินค้าจากจีนอยู่แล้ว ช่วงที่ผมไปเลือกซื้อสินค้าที่จีนเลยเอามือตบเข้ามาขายด้วย คือที่เมืองอี้อูจะเป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างหังโจวกับเซี่ยงไฮ้ จะมีทั้งพ่อค้าคนกลางและเจ้าของโรงงานผู้ผลิตที่มาเปิดร้านขายส่งเอง เป็นตลาดที่มีอาคารใหญ่โตมาก แบ่งเป็นสัดส่วนตามประเภทสินค้า มีตั้งแต่ตึก A ถึงตึก E แต่ละตึกก็มีขนาดครึ่งหนึ่งของห้างมาบุญครองของบ้านเรา มีร้านค้าประมาณ 10,000,000 ร้าน อย่างพวกอุปกรณ์เชียร์ก็จะมีโซนที่ขายสินค้าประเภทนี้โดยเฉพาะ เวลาสั่งก็ต้องสั่งเป็น 1,000 ขึ้นไป มือตบนี่เอาเข้ามาเท่าไรก็ขายหมด” 
 
       คงไม่เกินไปที่จะกล่าวว่าขณะนี้ได้เกิดกระแส "มือตบฟีเวอร์" ระบาดไปทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งในกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ออกมาร่วมชุมนุม พันธมิตรฯ ที่กู้ชาติอยู่หน้าจอทีวี คนที่มองว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมแต่ก็ไม่ได้มาร่วมกับพันธมิตรฯ คนที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้สนใจการเมืองเลย ล้วนต่างก็อยากได้มือตบไว้เป็นที่ระลึก นอกจากกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดแล้วจึงมีผู้ค้าจำนวนไม่น้อยที่นำมือตบไปจำหน่ายในต่างจังหวัดด้วย
      
       “มือตบนี่ไม่ได้ฮิตแค่ในกรุงเทพฯนะ พันธมิตรฯต่างจังหวัดเขาก็ฮิตกัน เวลาตั้งเวทีปราศรัย คนที่มาชุมนุมก็จะถือมือตบมาด้วย ส่วนใหญ่ก็จะซื้อไปจากกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้แม้แต่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นอย่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เขาก็ยังเอามือตบมาเชียร์กัน” ชญาบุญ พูดถึงความนิยมของคนต่างจังหวัดที่มีต่อมือตบ
      
       และแม้ ‘hand clapper’หรือ‘มือตบ’ จะเป็นที่รู้จักและมีจำหน่ายในหลายประเทศ ทั้ง ไทย จีน สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป แต่น่าแปลกว่ามีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่นำมือตบมาใช้ในการชุมนุมทางการเมือง และเสียงเคาะนั้นสั่นสะเทือนแผ่ขยายไปทั่วประเทศ จนอุปกรณ์เชียร์ชิ้นนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเคลื่อนไหวทางการเมือง และถูกเรียกขานว่า ‘มือตบกู้ชาติ
      
       ***************************************************************************************************
        
       เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน    ข้อมูลจาก ผู้จัดการรายวัน 24 กันยายน 2551

 
 
 
 

Visitors: 123,823