ประวัติศาสตร์ของพัด
--------------------------------------------------------------------------------

พัดมีแหล่งกำเนิดที่ประเทศจีน จนถึงปัจจุบัน มีประวัติศาสตร์หลายพันปีแล้ว วัฒนธรรมพัดของจีนมีมาช้านานและลึกซึ้ง จีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมกว่า 5,000 ปี ส่วนธุรกิจการผลิตพัดของจีนก็มีกว่า 3,000 ปี วัฒนธรรมพัดจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมชนชาติจีน และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวัฒนธรรมไม้ไผ่และพุทธศาสนาด้วย แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศจีนได้สมญานามว่า เป็นอาณาจักแห่งพัด วัตถุที่ใช้ทำพัดมีหลายอย่าง เช่น ไม้ไผ่ ไม้ กระดาษ งาช้าง กระดองเต่า หยก และขนสัตว์ปีก เป็นต้น นอกจากนี้ ใบของพืชชนิดอื่นๆ เช่น ใบปาร์ม ใบหมักและใบต้นหางแมว เป็นต้น ก็สานเป็นพัดได้เช่นกัน พัดนอกจากเป็นของใช้ประจำวันแล้ว ถ้าหากว่ามีช่างตั้งใจที่จะแกะสลัก สาน หรือวาดภาพ ตกแต่งให้สวยงาม ก็จะมีคุณค่าทางศิลปะ ทำให้พัดมีราคามากขึ้นและมีความหมายกว้างขึ้น

เล่ากันว่า สามพันกว่าปีที่แล้ว สมัยนั้นจีนมีพัดแล้ว เป็นพัดที่สานด้วยใบไผ่หรือต้นหางแมว แต่ไม่ได้ใช้สำหรับพัดลมหรือพัดให้เกิดความเย็น หากเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่ง หนังสือโบราณบันทึกไว้ว่า พัดมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์อิน สานด้วยขนไก่ป่าชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องประดับของกษัตริย์ มีประโยชน์ช่วยกันแดดและกันฝุ่น ในสมัยราชวงศ์โจว หลังรถที่กษัตริย์และพระราชินีทรงใช้นั้น จะมีพัดด้วย เพื่อกันฝุ่นและทราย เวลาเสด็จหรือออกเดินทาง ก็จะมีพัดขนาดใหญ่ตามหลัง เพื่อแสดงถึงความองอาจ ยิ่งใหญ่ และมีอำนาจ ต่อจากนั้น จากราชวงศ์จนถึงขุนนางชั้นสูง ได้ใช้พัดเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะ

จนถึงราชวงศ์ฮั่น เริ่มมีช่างสานพัดไม้ไผ่และพัดผ้าต่วน ใช้สำหรับพัดลม และมีการพัฒนารูปแบบให้หลากหลาย ยังมีนิทานเล่ากันว่า สมัยนั้น ในเมืองหลวงฉางอัน เคยมีช่างคนหนึ่ง ชื่อติง ห่วน ทำพัดชนิดหนึ่งเรียกว่า "พัดเจ็ดล้อ" คือเอาพัด 7 ด้ามต่อเป็นวงกลม และให้คนหมุนอยู่ข้างหลัง สามารถทำให้ลมหรืออากาศหมุนเวียนได้ทั้งบ้าน ชาวบ้านบอกว่า อันนี้น่าจะเป็นต้นกำเนิดของลมพัดในปัจจุบัน

ยังมีเรื่องเล่ากันว่า โจโฉ ในสามก๊ก เป็นคนชอบพัดเหมือนกัน เคยสั่งให้คนวาดภาพบนหน้าพัด เพื่อเป็นของเล่น ภาพวาดมักจะมีดอกไม้ มีสายน้ำ หรือเป็นภูเขา และจะแต่งบทกวีด้วย แสดงให้เห็นถึงความรู้และฐานะอันสูงส่งของเจ้าของพัด

การปฏิรูปในระยะเวลากว่า 3,000 ปี ทำให้พัดพัฒนาเป็นหลายตระกูล มีพัดกระดาษขาวที่ผึ่งผาย พัดกระดาษดำที่ล้ำค่า พัดผ้าไหม่ที่งดงาม พัดแขวงที่สง่า นอกจากนี้ ยังมีพัดลำที่สวยหรูและพัดไม้หอมที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ส่วนหน้าพัด นอกจากรูปกลมแล้ว ยังมีรูปไข่ รูปสี่เหลี่ยม รูปดอกบ๊วย รูปแดงกวา เป็นต้น

                     

 

  

 


พัดที่น่าเอ่ยถึงคือพัดพับ เป็นพัดที่สามารถพับเก็บเพื่อความสะดวก สมัยราชวงศ์ซ่ง ได้ผลิตพัดพับโดยทั่วไปแล้ว และเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์หมิง ฮ่องเต้สั่งให้เลียนแบบพัดเกาหลี พัฒนาเทคนิคการสานพัดของจีน และจนถึงราชวงศ์ชิง ยิ่งใช้วัตถุล้ำค่าในการสานพัด เช่น งาช้าง กระดองเต่า และไม้แดง เป็นต้น มีการแกะสลักไม้พัดอย่างละเอียดประณีต ส่วนที่จับของพัด ก็มีรูปแกะสลักต่างๆนานา เช่น แบบหรูอี้ แบบขิม แบบนก แบบหัวปลาทอง แบบแห้ว แบบสมอ เป็นต้น ซึ่งการใช้วิธีการต่างๆทำให้พัดมีความสวยงามเพิ่มมากขึ้นนั้น ได้เพิ่มคุณค่าทางด้านศิลปะให้กับพัดด้วย สมัยราชวงศ์หมิง มีกษัตริย์จู จัน จี เคยทรงวาดภาพ "อ่านหนังสือใต้ต้นสน"บนหน้าพัด ถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่หายากของจีน

 ปัจจุบัน พัดจีนมีจำหน่ายในทั่วโลก ชาวไทยก็รู้จักและเชื่อว่ามีพัดในบ้านแน่นอน สุดท้ายนี้ สอนภาษาจีนให้หน่อยก็แล้วกัน พัดในภาษาจีนจะอ่านว่า "สั้น" แต่ชาวจีนนิยมเพิ่มอีกคำหนึ่งตามท้าย เรียกว่า "สั้นจื่อ" 

ข้อมูลจาก www.cri.cn

 

พัดนับว่าเป็นเครื่องมือทำความเย็นให้แก่ร่างกายของคนเรามาก่อนเครื่องทำความเย็นชนิดอื่น ๆ ทุกชาติทุกภาษาต่างก็มีพัดของตนเอง
ขึ้นมาใช้ทั้งนั้น แต่ชาติที่สันนิษฐานว่าเป็นชาติแรกที่รู้จักคิดประดิษฐ์พัดขึ้นมาใช้อย่างจริงจังหรือเป็นล่ำเป็นสันก็คือ จีน
                         ชาวจีนทุกชนชั้น ไม่ว่าเป็นกวี นักปราชญ์ รัฐบุรุษ นักแสดง และคนทั่วไปต่างก็นิยมใช้พัดเพื่อวีร่างกายให้คลายร้อน นักปราชญ์ราชบัณฑิตมักจะเขียนโคลงกลอน และวาดภาพเป็นรูปนก ดอกไม้และแมลง ลงสีสวยงานน่าจับน่าถือยิ่งนัก เอาไว้มอบให้เป็นของที่ระลึกแก่เพื่อนฝูงและญาติมิตร

การเขียนภาพลงในพัดของจีน ถือได้ว่าเป็นศิลปะชั้นสูงเลยทีเดียว เพราะการเขียนในลักษณะเช่นนี้ไม่ง่ายเหมือนการเขียนภาพธรรมดา ทั้งนี้เพราะมีปัญหาอยู่ที่รูปร่างและเนื้อที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ผู้ที่เขียนภาพลงในพัดได้สวยงามเหมาะเหม็ง จึงต้องเป็นจิตรกรมือเอกและมีประสบการณ์ในด้านนี้มาแล้วเป็นอย่างดี
                         พัดที่ทำในประเทศจีนมีหลายรูปแบบและใช้วัสดุที่แตกต่างกันออกไป พัดที่มีรูปกลมคือพัดที่ทำขึ้นเป็นครั้งแรก ขอบของพัดที่ว่านี้จะทำด้วยไม้ไผ่ หรือหวาย ส่วนตัวพัดทำด้วยผ้าไหมอย่างหนา
                         มีภาพเขียนวิจิตรบรรจงของจิตรกรชื่อดังปรากฏอยู่ในสมัยโบราณเขาเรียกพัดแบบนี้ว่า “ พัดบรรดาศักดิ์” และพัดแบบนี้อีกเหมือนกันที่บรรดาสุภาพสตรีที่ออกนอกบ้านจะนำติดตัวไป เมื่อพบชายแปลกหน้า พวกเธอจะเอาพัดปิดไม่ให้เห็นโฉมหน้า ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้พวกเธอดูเป็นหญิงลึกลับ 

                               
                         ส่วนพัดอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “ พัดพับได้” พัดประเภทนี้กล่าวกันว่าต้นแบบมาจากประเทศเกาหลี แต่บ้างก็ว่าญี่ปุ่นเป็นต้นกำเนิดของพัดประเภทนี้ แล้วทูตเกาหลีเป็นผู้นำไปถวายองค์จักรพรรดิเซงสือแห่งราชวงศ์หมิง พัดแบบพับได้นี้มีลักษณะหรือ ข้อกำหนดที่แตกต่างในการใช้ว่า พัดที่คุณผู้ชายใช้จะมีอยู่ 9 ,16 ,20 ซี่ สำหรับคุณผู้หญิงจะมีได้ถึง 30 ซี่ สำหรับวัสดุที่นำมาใช้โครงร่างของพัดแบบพับได้ก็มีทั้งไม้ไผ่ งาช้าง ไม้จันทน์ และไม้มะเกลือ พัดประเภทนี้ดีที่สุดท่านว่าต้องทำมาจากมณฑลเสฉวน
                         นอกจากใช้วัสดุดังกล่าวแล้ว จีนยังใช้ขนนกทำพัดอีกด้วย ขนนกที่ดีเลิศในการนำมาทำพัดก็คือขนนกอินทรีและเหยี่ยว บางทีก็ใช้ขนไก่ฟ้าและขนนกยูง ส่วนขนห่านขนเป็ดนั้นมีเอามาทำน้อยมาก
                         พัดที่ทำด้วยขนนกจะยาวประมาณหนึ่งฟุต บรรดาผู้ที่นิยมชมชอบกับการใช้พัดขนนกนี้ได้แก่กวีในสมัยราชวงศ์ซ้อง ใช้แล้วติดอกติดใจถึงกับนำไปเป็นหัวข้อในการพรรณนาเป็นบทกลอนถึง 30 หัวข้อ เหล่าดารานักแสดงทั้งชายหญิงต่างก็ใช้พัดขนนกประกอบการแสดงบนเวทีอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะในการฟ้อนรำอย่างที่คนไทยเลียนแบบเอามารำอย่างสวยสง่าเรียกว่า “จีนรำพัด”
                         จีนใช้พัดสารพัดประโยชน์ นอกจากเพื่อให้ความเย็นแก่ร่างกายแล้วเวลาคนจีนสนทนากัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟังไม่ชัด เขาจะยกพัดขึ้นป้องหู เพื่อให้ได้ยินชัดเจนขึ้น  เมื่อเจ้าสาวคนใหม่ไปยังบ้านสามีเธอเป็นครั้งแรก เจ้าประคุณสามีเธอจะออกไปพบเธอที่ประตูบ้านพร้อมกับเอาพัดเคาะศีรษะเธอเบา ๆ จากนั้นก็ค่อย ๆ เอาพัดยกผ้าคลุมหน้าเธอออก เขาจึงได้ยลโฉมหน้าผู้ที่จะมาเป็นศรีภรรยาของเขาเป็นครั้งแรก ผู้ที่จะเข้าเฝ้าจักรพรรดิ จะต้องคุกเข่าลงตรงพระบาทของพระองค์ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี ในโอกาสนี้องค์จักรพรรดิจะพับพัดแล้วเคาะเป็นสัญญาณว่าพระองค์ทรงรับทราบถึงการแสดงความเคารพของเขาแล้ว ในตำนานโป๊ยเซียน จงลี่ฉวนเซี่ยนผู้อาวุโสกว่าเพื่อนจะถือพัดติดมือเป็นประจำ เพราะเขาเชื่อว่าพัดของเขานั้นจะสามารถทำให้ผู้ที่เสียชีวิตแล้วกลับฟื้นคืนชีพได้ 

                                    
                         จากเรื่องราวของพัดจีนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พอจะทำให้ทราบได้ว่า พัดของจีนมีคุณประโยชน์อยู่อเนกอนันต์ ทั้งเป็นบ่อเกิดศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามหลายสิ่งหลายประการอย่างที่คาดไม่ถึง
                         เนื่องจากพัดจีนได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่ว่าจะด้านความประณีตสวยงามมีศิลปะ หรือในด้านการใช้วัสดุที่มีคุณค่านานาชนิดในการจัดทำและในด้านการมีขนาดและรูปแบบหลากหลายน่าจับถือก็ตาม ทำให้พัดได้รับความนิยมทั้งจากคนจีนภายในประเทศ และคนต่างชาติต่างภาษาภายนอกประเทศด้วย
                         มาในระยะหลังพัดนี้มีคุณสมบัติเพื่อให้ความเย็นเพียงอย่างเดียว แต่ได้กลายเป็นของขวัญของที่ระลึกที่ญาติมิตรเพื่อฝูงจะส่งให้กันในวาระต่าง ๆ จีนได้ส่งพัดออกจำหน่ายต่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800-1900 ประเทศที่สั่งซื้อพัดจากจีน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป ปัจจุบันพัดจีนที่มีอายุ 100-200 ปี คงหาชมยากในประเทศทั่ว ๆ ไป จะพอให้ชมก็ในพิพิธภัณฑ์ในประเทศจีน และพิพิธภัณฑ์บางแห่งในสหรัฐอเมริกาลูกค้ารายใหญ่ ที่สั่งซื้อพัดจีนเข้าไปเท่านั้น 

             ศิลปะในพัดจีน 
                         พัดจีนในยุคแรก มีลักษณะคล้ายพัดลมเพดาน ทำด้วยไม้ไผ่หรือขนนกโดยมีคนรับใช้หรือทาสเป็นคนพัด ส่วนพัดที่พวกขุนนางใช้ระหว่างปี ค.ศ. 305 พ.ศ.949 หรือปี ค.ศ. 589 (พ.ศ. 1132 ) มีแบบแปลก ๆ อยู่หลายแบบแต่ละแบบส่วนของด้ามพัดจะมีด้ามยาว ส่วนตัวพัดทำด้วยผ้าไหม มีข้าราชสำนักเป็นผู้ถือ การใช้พัดตามแบบที่ว่านี้ได้ดำเนินมาเป็นประเพณีจนถึงสมัยราชวงศ์ถังปี ค.ศ. 618 (พ.ศ. 1161) ภายในท้องพระโรงของจักรพรรดิมีพัดด้ามยาวสี ต่าง ๆ ถึง 156 ด้าม ตั้งประดับไว้ สำหรับจักรพรรดินีจะประดับไว้ สำหรับจักรพรรดินีจะประดับด้วยพัด 24 ด้าม และเจ้าฟ้าหญิงจะมีพัดตั้งประดับไว้ 10 ด้าม พัดทั้งหมดนี้จะตั้งตรงไว้อย่างมั่นคง ไม่สั่นไหว แม้ต้องลมพัด เพราะเป็นการตั้งประดับไว้สวย ๆ เท่านั้น 

                         ในสมัยราชวงศ์หมิงระหว่างปี ค.ศ.14 (พ.ศ.557) พัดที่ตั้งระดับไว้เหล่านั้นดูไม่มีคุณค่ามากนัก สมเด็จพระจักรพรรดิจึงเอาออก เหลือไว้เพียงพัดสีเหลืองสามด้ามเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในระหว่างศตวรรษที่ 15 ในราชสำนักได้กลับมาติดตั้งพัดหลากสีประดับอีก ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่และเข้มแข็ง สมัยเดียวกันนี้ การใช้พัดประกอบพิธีอยู่ นอกจากนี้การแห่เทพเจ้าและเทพเทวีจะเห็นว่ามีพัดอยู่ในขบวนด้วย
                        มีเรื่องเล่าปรำปราตอนหนึ่งว่า พัดเป็นสัญลักษณ์ของอมตมนุษย์คนหนึ่งชื่อจงลี่ฉวน ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถปลุกเสกให้คนตายฟื้นขึ้นมาได้
                         พัดแบบมือถือ เพิ่งมีใช้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ปี ค.ศ. 100-600 หรือ พ.ศ. 643-1143 ) ในสมัยนั้นทำด้วยไม้ไผ่ใช้กันทั้งผู้หญิงและผู้ชายเพื่อบรรเทาร้อน เป็นสำคัญ พัดแบบนี้แหละที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน พัดที่ใช้เป็นแฟชั่นและในการทรงเจ้าเข้าผีมักจะทำด้วยขนนกกระเรียน จีนถือว่านกชนิดนี้เป็นเพื่อน ของเทพเจ้า มีการนิยมเอาขนนกกระเรียนมาทำพัดกันมาก โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นต้องวางมาตรการในการป้องกันการใช้ขนนกดังกล่าวมาทำพัดอยู่ระยะเวลาหนึ่ง พัดที่มีการวาดเป็นภาพต่าง ๆ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์หมิง จนกระทั่งปลายราชวงศ์ รูปแบบของพัดจึงเปลี่ยนไปเป็นแบบเรียบ ๆ ขลิบด้วยลูกไม้ขาว ถึงกระนั้นพัดที่เป็นสีสันยังคงมีใช้อยู่ในบางโอกาส เช่น เจ้าสัว ยังคงใชัพัดแบบที่ว่านี้ส่งให้ครอบครัว ของคู่หมั้นในเทศกาลแข่งเรือมังกร ในพิธีแต่งงาน เมื่อเจ้าสาวมาถึงบ้านใหม่ของเธอ เธอจะลงจากเกี้ยว มาให้เข้าบ่าวเคาะศรีษะด้วยพัดและด้วยพัดด้ามเดียวกันนี้ ค่อย ๆ เลิกผ้าคลุมหน้าขึ้นเพื่อจะได้ชมโฉมหน้าเจ้าสาวเป็นครั้งแรกนับแต่เข้าพิธี    
  
                        พัดที่มีภาพหรือพัดฉากที่ใช้กันปัจจุบันจะทำด้วยกระดาษฟางหรือใบไม้ทางภาคใต้ของจีน พัดจะทำขึ้นอย่างง่าย ๆ และค่าใช้จ่ายที่ถูกนั่นคือ การทำด้วยใบลานที่ต้นของมันมีขึ้นอยู่ตามฝั่งน้ำทั่วไป พัดใบลานนี้มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17
                         ขั้นตอนของการทำพัดใบลานนี้มีไม่มาก เพียงเอาใบลานตัดให้เป็นรูปพัดแล้วเอาผ้ามาเย็บหุ้มริมพัดไว้ เพื่อให้แข็งแรงทนทานเท่านั้นก็เสร็จแล้ว พัดแบบพับได้ แม้จะเป็นพัดที่มีรูปลักษณะเหมือน ๆ กัน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว มีข้อที่แตกต่างกันหลายประการ เช่น ราคาถูกแพงกว่ากัน ขนาดไม่เท่ากันวัสดุที่ใช้ทำก็แตกต่างกัน เพราะทำด้วยกระดาษก็มี ทำด้วยผ้าไหมก็มี ส่วนโครงและซี่พัดทำด้วยไม้ไผ่ กระดูกสัตว์ ไม้จันทน์ งาช้าง และหยก ว่ากันตามจริงแล้ว

                         พัดหาได้มีการปฐมกำเนิดในประเทศจีนไม่ หากมีขึ้นในประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น ก่อน จีนเพิ่งมีพัดของตนเองเมื่อ ปี ค.ศ.1074 พ.ศ.1617 พัดในสมัยแรก ๆ ของจีนทำด้วยกระดาษสีเขียน ขึงด้วยไม้สน และตกแต่งอย่างสวยงาม จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 พัดในรูปโฉมเดิมได้มีการปรับปรุงขึ้น และใช้กันไปทั่วประเทศรวมทั้งมณฑลกวางตุ้ง หลังจากนั้น ทั่วทั้งประเทศจีนได้มีการผลิตพัดออกมากมาย แบบหนึ่งใช้ไม้ซี่ 14 ซี่ อีกแบบหนึ่งใช้ 16 ซี่ คริสต์ศตวรรษต่อมา ได้เพิ่มไม้ซี่อีกหนึ่งซี่เป็น 17 ซี่ และมีการแต่งแต้มให้ดูฉูดฉาดหรูหราขึ้น ในสมัยราชวงศ์หมิง พร้อมกันนั้นได้มีการเพิ่มไม้ซี่ขึ้นเป็น 24 หรือ 25 ซี่ พัดสมัยราชวงศ์ชิงรู้จักกันดีในนามของ “พัดแห่งฤดูใบไม้ร่วง” พัดนี้ใช้ได้เฉพาะสตรีเท่านั้น
                         ตลอดสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ถือได้ว่าเป็นยุคสมัยของพัดที่ออกมาในรูปของศิลปะที่เฟื่องฟูที่สุด ตัวหนังสือมีค่าทางศิลปะพอ ๆ กับที่ออกมาในรูปของศิลปะที่เฟื่องฟูที่สุด ตัวหนังสือมีค่าทางศิลปะพอ ๆ กับภาพเขียน มีการเขียนบทกวีลงบนพัด บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตเขียนแลกเปลี่ยน ข้อปรัชญาความคิดเห็น ด้วยการเขียนลงในพัด การติดต่อสื่อสารด้วยข้อความในพัดเช่นว่านี้ ได้กระทำกันอย่างกว้างขวางจนได้รับการขนานนามว่า “ ภาษารัชนี”จักรพรรดิกวงสี (ปี ค.ศ.1662-1723) ทรงเป็นนักเขียนภาพพัดที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทรงได้รับพระสมญานามว่า “ศิลปินจีนแห่งยุค”
                         พัดที่เก่าแก่ที่สุดที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ได้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1429 (พ.ศ. 1972 ) เป็นภาพสุภาพสตรีในราชสำนัก ด้วยเหตุนี้กระมัง พัดนี้จึงใช้ได้เฉพาะสุภาพสตรีเท่านั้น มีบันทึกที่น่าสนใจอยู่ว่า จีนได้เปิดการค้ากับยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 ปรากฏว่าพัดมีราคาสูง ในสมัยเดียวกันนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 13ได้จัดแฟชั่นพัดจีนที่มีขนาดใหญ่และหลากสีสันมากกว่าพัดของประเทศตะวันตกซึ่งทำให้ชาวยุโรปหันมาสะสมพัดของจีนเป็นการใหญ่ ทั้งนี้รวมถึงพระราชินีวิคตอเรียซึ่งทรงสะสมพัดจีนไว้ชนิดที่อาจกล่าวได้ว่า ทุกอารมณ์และโอกาสเลยทีเดียว ไม่ว่าภาพเขียนและภาพถ่ายของพระองค์ จะเห็นว่าทรงถือพัดไว้ใน พระหัตถ์เกือบทุกภาพก็ว่าได้ 

                         ปัจจุบันนี้ แม้จะมีพัดลม เครื่องทำความเย็น เครื่องปรับอากาศตลอดจนสิ่งอื่นๆ ที่ช่วยให้เกิดความเย็น หรือระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็ตาม แต่พัดของจีนก็ยังยืนหยัดอยู่ในความนิยมของคนทั่วโลกอยู่เหมือนกัน

       ข้อมูลจากหนังสือ "หล่นบนโต๊ะจีน" ชุดที่ 2 หน้า 79-83

 


--------------------------------------------------------------------------------

 
 


 

 

Visitors: 122,436