ความหมาย
ของขวัญ คือ สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญ แล้ว หรือสิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญ หรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 134)
ของกำนัล คือ สิ่งของที่นำไปให้แก่ ผู้ที่รักและนับถือ (135)
ของไหว้ คือ ของที่ผู้น้อยนำไปให้ผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความคารวะในบางโอกาส หรือเครื่องเซ่น (135)
ของชำร่วย คือ ของตอบแทนผู้มาช่วยงาน เช่น งานแต่งงานและงานศพ (268)
ของขวัญ จึงหมายรวมถึงสิ่งของที่ให้กันในเวลาต่างๆ เพื่ออัธยาศัยไมตรี สิ่งของที่นำไปให้แก่ผู้ที่รักและนับถือ ของที่ผู้น้อยนำไปให้ผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความคารวะในบางโอกาส เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด ของขวัญในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ ของขวัญวันเกษียณอายุราชการ เป็นต้น
เมื่อผู้ได้รับของขวัญ หรือของกำนัล หรือของไหว้แล้วจะมีของตอบแทนให้ผู้มาช่วยงานหรือผู้นำมามอบให้ เรียกว่า ของขวัญตอบแทนหรือ ของชำร่วย เช่น งานแต่งงาน งานศพ งานเกษียนอายุราชการ วันปีใหม่ งานวันเกิด วันจัดงานรับตำแหน่งใหม่ เป็นต้น
สื่อความหมายของ " ของขวัญ "
ของขวัญแต่ละชนิดที่เรานำมาให้กันและกัน หรือแลกเปลี่ยนกันตามเทศกาลต่างๆ ดังกล่าวล้วนมีความหมายแตกต่างกันไปในตัวของมัน
*ของขวัญ บอกอะไร*
ตุ๊กตา เป็นของขวัญยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตารูปคน สัตว์ หรือสิ่งของต่าง ๆ สื่อความหมายถึงความรักที่ปนมากับความเอ็นดูและอบอุ่นอ่อนโยน
ถ้าคุณเป็นผู้ให้ แสดงว่าคุณเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ขี้อ้อนนิดๆ ใจดีมีเมตตา น้ำใจดี อ่อนโยน อ่อนหวาน (เปรียบเหมือนคุณเล่นบทคุณแม่ที่ดูแลลูก) ช่างฝันและอ่อนไหว
ถ้าคุณเป็นผู้รับ แสดงว่าคุณจะรู้สึกว่ามีคนรักและห่วงใย เมื่อใดคุณมีความทุกข์ ความไม่สบายใจคนให้จะมาปลอบโยนคุณเสมอ
ดอกไม้ เป็นการแสดงถึงความรู้สึกที่หวานซึ้งและร้อนแรง ต่างกับต้นไม้ตรงที่สวยอยู่ไม่ทนก็ร่วงโรย จะบอกถึงอารมณ์ที่วูบวาบ อ่อนไหวแบบสายฟ้าฟาด
ถ้าคุณเป็นผู้ให้ แสดงว่าคุณเป็นคนชอบเรื่องรักใคร่ โรแมนติก อารมณ์วูบวาบ อ่อนไหวง่ายอาจตกหลุมรักง่ายและหน่ายเร็ว ขยันและ Active รสนิยมดี เข้าสังคมเก่ง ใจร้อน ดอกไม้ที่ให้หมายถึง ความรู้สึกรักร้อยเปอร์เซนต์ไม่มีตกหล่นเป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีอยู่เต็มล้น
ถ้าคุณเป็นผู้รับ แสดงว่าคนให้มีความรู้สึกดีๆ ที่จะให้เต็มปรี่ สุดแล้วแต่ผู้รับจะคิดอย่างไรก็ได้ไม่หวังได้รับสิ่งตอบแทน คุณเป็นคนพิเศษสำหรับผู้ให้เสมอ
ต้นไม้ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณและผู้รับเพื่อแตกหน่อเติมใบต่อไป
ถ้าคุณเป็นผู้ให้ แสดงว่าคุณเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน ติดดิน รักธรรมชาติ คุณอยากเป็นคนดูแล เอาใจ อ่อนน้อม โรแมนติค เรียบร้อย จริงจังและทุ่มเทมาก
ถ้าคุณเป็นผู้รับ แสดงว่า คุณจะรู้ถึงความรู้สึกจริงใจมั่นคง และอยากให้ความสัมพันธ์นั้นเติบโต งอกงามเหมือนต้นไม้ ผู้ให้พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อคุณ ผู้ให้จะเป็นคนหัวโบราณ จริงจัง มั่นคง อบอุ่น น่ารัก แม้จะจืดไปนิดๆ
ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเทปเพลง แผ่น CD เครื่องดนตรีทั้งหลาย หมายถึง จิตใจที่อยากส่งมาให้
ถ้าคุณเป็นผู้ให้ หมายความว่า คุณอยากให้ผู้รับ รู้สึกถึงความรู้สึกในจิตใจ ที่ไม่อาจบอกได้ แต่เป็นความรู้สึกที่แสนดี โรแมนติค หวานแหวว แถมขี้อายนิดๆ
ถ้าคุณเป็นผู้รับ เทปเพลง หรือแผ่น CD ที่เป็นเพลงรักแสดงว่าคุณกำลังถูกบอกรัก และผู้ให้เป็นคนน่ารักอบอุ่น Sensitive อ่อนโยน ช่างฝันและกำลังรอคำตอบอยู่ด้วย
เสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระโปรง กางเกง แสดงให้รู้ถึงความรู้สึก แสนพิเศษที่ลึกลงไป
ถ้าคุณเป็นผู้ให้ แสดงว่าคุณต้องการดูแลและห่วงใยคนที่คุณให้ด้วยความรู้สึกที่ไม่ธรรมดา คุณมีความรู้สึกลึกซึ้งเอามาก ๆ คนที่ให้เสื้อผ้า ยังเป็นคนที่ทันสมัย ตามโลกคล่องแคล่ว สะอาดรักสวยรักงาม
ถ้าคุณเป็นผู้รับ แสดงว่าคนที่ให้คุณอยากบอกว่าเขามีความรัก ความห่วงใยอย่างล้นหลาม และต้องการจับจองเป็นเจ้าของอีกด้วย
ถ้าเป็นชุดชั้นในหรือชุดนอน แปลว่า นอกจากจะรักและห่วงใยแล้ว
ยังอยากเป็นเจ้าของทั้งตัวและหัวใจ
ภาพถ่าย - กล้องถ่ายรูปรวมทั้งโปสการ์ด เป็นการบอกถึงความรู้สึกที่ห่างกันแล้วนะ
ถ้าคุณเป็นผู้ให้ แสดงว่าคุณอยากให้เขาคิดถึงคุณเสมอกลัวว่าเขาจะลืมคุณ และอยากให้ส่งรูปถ่ายมาให้ มีอาการน้อยใจลึกๆ คนที่ให้ยังเป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยวรักการผจญภัย กล้าเสี่ยง และมีอารมณ์ขัน ไม่อยู่ในระเบียบ รักอิสระเหนือสิ่งอื่นใด
ถ้าคุณเป็นผู้รับ แสดงว่าผู้ให้รักและคิดถึงมากๆ อยากอยู่ใกล้ชิดคล้ายเป็นภาพแทนใจ หรือบอกว่าคุณเป็นคนเข้าถึงยาก อยากให้เปิดใจกว้างมากกว่านี้
เครื่องกีฬา แสดงว่าเขาต้องการให้คุณฝึกฝนกีฬาต่อไป
หนังสือ แสดงถึง ความหมายของหัวใจและความรักความหวังดี ที่มีต่อกัน
กุหลาบแดง แสดงถึงเครื่องหมายของหัวใจแทนความรักความหวังดีที่มีต่อกัน
ขนมหวานรวมทั้งทอฟฟี่หรือช็อกโกแลต แสดงว่าคุณชอบกินและเขาอยากให้คุณได้กินของถูกใจ (อย่าตีความว่าเขาอยากให้อ้วนล่ะ)
สายสร้อย (ข้อมือหรือข้อเท้า) เป็นเครื่องหมายของความผูกพันทำนอง "โซ่ทองคล้องใจ"
เลือกของขวัญให้ถูกใจผู้รับอย่างไร ถ้าผู้รับเป็น
ผู้ชายเท่สมาร์ท ของขวัญที่ให้ควรเป็น ปากกาหมึกซึมเก๋ๆ เรียบๆ
ผู้ชายเงียบขรึม ของขวัญควรเป็นเนคไท หรือเข็มขัดสวยๆ
ผู้ชายเจ้าชู้ ของขวัญควรเป็นเข็มกลัดเนคไทเก๋ๆ หรือ กระเป๋าสตางค์ หรือแหวน
ผู้ชายขี้เล่น/เจ้าอารมณ์ ของขวัญควรเป็นนาฬิกา หรือ แว่นกันแดด
ผู้ชายที่มีเสน่ห์/กะล่อน ของขวัญควรเป็นน้ำหอมอ่อนๆ
ถ้าผู้รับเป็นเพื่อน ของขวัญที่ให้ควรเป็นหลากหลายรูปแบบ เช่น
-
ของใช้ประจำวัน แสดงว่าคุณเป็นคนไม่ค่อยเปิดเผย และหมกมุ่นกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด
-
ของที่คุณชอบ แสดงว่าคุณจะถือตัวเองเป็นศูนย์กลางในการคบหาคนอื่น
-
ของที่เพื่อนอยากได้ แสดงว่าคุณคำนึงถึงจุดยืนของผู้อื่นเสมอและต้องการให้คนอื่นยอมรับ
-
ของทันสมัย แสดงว่า คุณสนใจเหตุการณ์แวดล้อมรอบตัวมากกว่าตนเองและคนอื่น
-
ของที่ทำขึ้นเอง แสดงว่าคุณมีแนวโน้มที่จะทำอะไรเกินตัวแต่ทั่วไปแล้วคุณให้ความสำคัญกับเพื่อนอย่างมาก
ของขวัญ : วัฒนธรรมของญี่ปุ่น : โอะยูริโมะโนะ
การให้ของขวัญ เป็นการแสดงความยินดี เป็นประเพณีร่วมกันของคนทุกเชื้อชาติ ทุกประเทศ สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้วมีการส่งของขวัญเพื่อเป็นการฉลองโอกาสต่าง ๆ เช่น
- การฉลองการมีบุตร
- งานฉลองสำหรับ 1 เด็ก ที่อายุครบ 3 ขวบ 5 ขวบ 7 ขวบ
- วันเกิด
- การเข้าศึกษาต่อ
- การจบการศึกษา
- การเข้าทำงาน
- การแต่งงาน
- การขึ้นบ้านใหม่
- การเลื่อนตำแหน่ง
- การฉลองอายุครบ 60 ปี เป็นต้น
การส่งของขวัญ ความหมายดั้งเดิมของการส่งของขวัญคือ การสื่อความรู้สึกไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งในรูปของสิ่งของ เวลาส่งของขวัญคนญี่ปุ่นจะให้การเอาใจใส่กับการห่อ ทั้งนี้เพราะประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว การไม่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างโจ่งแจ้งถือเป็นความงดงามทางคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการ "ห่อหุ้มความรู้สึก" อย่างมาก คนญี่ปุ่นสมัยก่อนได้พยายามหาวิธีที่จะห่อของขวัญให้ดูสวยงาม จึงได้ให้กำเนิด "วิธีการห่อของขวัญ" ที่งดงามเกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตามวิธีการเช่นนี้บางครั้งทำให้มีการให้ความสำคัญกับลักษณะภายนอกของห่อของขวัญมากกว่าสิ่งของที่อยู่ภายใน
นอกจากนั้นการห่อ ที่มากเกินไป ยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม ห้างสรรพสินค้าหรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต มักห่อของขวัญ ด้วยกระดาษรีไซเคิล หรือไม่ก็ห่อแบบง่ายๆ นอกจากนั้นการใช้ ผ้าห่อของ ที่เรียกว่า ฟูโระชิกิ แบบดั้งเดิมก็กลับมานิยมอีกทั้งที่เวลาที่จะมอบของขวัญที่ห่อด้วย ผ้าฟูโระชิกิ ให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยทั่วไปจะเอาผ้าออกต่อหน้าอีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่จะมอบให้ โดยทั่วไปจะเอาผ้าออกต่อหน้า อีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่จะมอบให้ ส่วนการไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับนั้น มีความเป็นมาจากประเพณีการถวายของแก่เทพเจ้าในสมัยโบราณ โดยเริ่มแรกจะนำของขวัญนั้นถวายแด่เทพเจ้า หลังจากนั้นหัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้เปิด จากประเพณีนี้จึงถือเป็นมารยาทที่ไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดมากนัก
ประเพณีการให้ของขวัญในญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ คือ มีการให้ของขวัญตามฤดูกาล กล่าวคือ
-
โอะ-ชูเง็น- ในฤดูร้อน
-
โอะ-เซะอิโม - ในฤดูหนาว
ซึ่งแตกต่างจากการให้ของขวัญ เพื่อแสดงความยินดีโดยเป็นการส่งของขวัญเพื่อเป็นการขอบคุณต่อผู้ให้ความช่วยเหลือด้วยดีเสมอมานั่นเอง
คนทั่วไปจะส่งของขวัญให้พ่อแม่หรือ นะโกโดะ คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในงานแต่งงานหรือพ่อสื่อ แม่สื่อ นั่นเอง เจ้านาย ครู แพทย์ประจำครอบครัว ในกรณีของบริษัทส่วนใหญ่จะส่งของขวัญให้กับบริษัทที่ติดต่อค้าขายกันอยู่นั่นเอง
การให้ของขวัญตอบแทน - โอะ - คะเอะชิ
การให้สิ่งของเพื่อตอบแทนของขวัญที่ได้รับ นับเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการให้ของขวัญในญี่ปุ่น และไม่ต้องกังวลว่าอุตส่าห์มอบของขวัญให้แล้วอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่เข้าใจความปรารถนาดีของผู้ให้ เพราะคนญี่ปุ่นจะแสดงความขอบคุณต่อของขวัญที่ได้รับโดยการมอบของขวัญตอบแทน ที่เรียกว่า โอะ-คะเอะชิ การแสดงความขอบคุณด้วยการส่งบัตรแสดงความขอบคุณนั้นยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่การส่งของขวัญตอบแทนในทันทีจะเป็นการเสียมารยาท ถ้าเป็นกรณีแสดงความยินดีควรส่งภายในรอบสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ได้รับของขวัญ
ส่วนกรณีการแสดงความเสียใจ
ควรส่งหลังจากประกอบพิธีที่ระลึกถึงผู้ตายเมื่อครบสี่สิบเก้าวัน หรือถ้าไม่ส่งของตอบแทนก็จะจดบันทึกไว้ก็ได้ เมื่อถึงโอกาสที่อีกฝ่ายหนึ่งเกิดกรณีแบบเดียวกันนี้ขึ้นจึงส่งของขวัญไปให้
สำหรับกรณีการตอบแทนการมอบเงินช่วยในงานศพ
จะไม่มีการส่งบัตรขอบคุณ ทั้งนี้เพื่อมิให้ครอบครัวของผู้ตายรู้สึกเศร้าโศกยิ่งขึ้นและแม้แต่เงินที่ได้รับมอบในงานศพก็ยังมีการให้ของขวัญตอบแทน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ระยะหลังๆ มักนำไปบริจาคให้องค์การการกุศลมากขึ้น
ในกรณีของการแสดงความยินดีต่อเด็กแรกเกิดและงานฉลองอื่นๆ ภายในครอบครัว
จะให้ของขวัญตอบแทนเป็น ข้าวแดง (เซะกิซัน) และน้ำตาลสีแดงและขาว เพื่อเป็นการแบ่งปันความปิติยินดี ให้กับผู้ที่ส่งของขวัญมาอวยพร
ในงานเลี้ยงฉลองการแต่งงาน
แขกที่มาร่วมงานจะได้รับของขวัญตอบแทนที่เรียกว่า มิกิเดะโมะโระ ในประเทศญี่ปุ่น มีการให้ เงินสด เป็นของขวัญในหลายๆ กรณีการแสดงความยินดีในโอกาสของการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา การจบการศึกษา การบรรลุตินิภาวะ การแต่งงาน การไปเยี่ยมไข้และการไปเยี่ยมเยียนเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งประสบความเดือดร้อนจากไฟไหม้ จะให้ของขวัญเป็นเงินสด เป็นส่วนใหญ่
ชาวญี่ปุ่นเรียกการให้ของขวัญปีใหม่ว่า โอะโทะชิตะบะ ส่วน โคเค็น คือการได้สิ่งของหรือเงินเพื่อแสดงความเสียใจในงานศพ ส่วนใหญ่จะให้ของขวัญเป็นเงินสด โดยปกติจะไม่มีการส่งของขวัญตอบแทน ในกรณีของการให้ของขวัญเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา การจบการศึกษา วันเกิดและการเยี่ยมเยืยน การเจ็บป่วย หรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ แต่เป็นมารยาทที่ควรจะต้องส่ง บัตรแสดงความขอบคุณ กลับไป
ในยุคเศรษฐกิจแบบประหยัด การให้ของขวัญเป็น เงินสด ดีที่สุด เพราะผู้รับสามารถนำไปใช้ได้ตามความต้องการ
ของขวัญ : วัฒนธรรมจีน : อังเปา
อั่งเปา เป็นของขวัญในทุกเทศกาล ทุกโอกาส ทุกสถานการณ์ ในงานมงคลแสดงความยินดี และแม้แต่ช่วงชีวิตประสบกับโชคไม่ดี อังเปายังเป็นเคล็ดที่ให้เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าชีวิตแต่นี้ไปจะได้พ้นจากความทุกข์ และพบกับเรื่องอันเป็นมงคล ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลอง การให้กำลังใจ การปลอบประโลม การแสดงความขอบคุณ การชดเชยการให้รางวัล การช่วยให้พ้นจากเคราะห์กรรม การให้อังเปา เป็นการแสดงน้ำใจที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์นำไปใช้สอยได้อย่างทันท่วงที
การให้อั่งเปา พ้นจากเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เทศกาลสำคัญที่สุดในชีวิตของชาวจีนก็มาถึง คือ "วันตรุษจีน" วันขึ้นปีใหม่ที่แท้จริงของชาวจีนทั่วโลก นอกจากเป็นสัญลักษณ์ถึงการเริ่มต้นชีวิตอีกขวบปีแล้ว ตรุษจีนยังหมายถึงการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิอันสดชื่นงดงาม ความรื่นเริงบันเทิงใจ "อั่งเปา" ซองแดงบรรจุธนบัตรเป็นของขวัญในการเริ่มต้นชีวิตในขวบปีใหม่และการพักผ่อนอันเบิกบานติดต่อกันนานหลายๆ วัน
อั่งเปา จึงหมายถึง ห่อหรือซองแดง เหตุผลที่ใช้สีแดงน่าจะสืบเนื่องมาจากพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาและความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณที่ว่าสีแดงเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นมงคลยินดี นอกจากนั้นสีแดงยังเป็นสัญญลักษณ์ของพลังอำนาจที่จะขจัดปัดเป่าสิ่งไม่เป็นมงคลทั้งหลายด้วย
ก่อนการใช้ อั่งเปา อย่างเป็นรูปแบบนั้น ชาวจีนใช้ แถบแดง เป็นตัวแทนแห่งความเป็นมงคลและขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นมงคล
การให้อั่งเปา เป็นสินน้ำใจ ประเพณีจีนโบราณจึงมักให้อั่งเปา เป็นของขวัญแก่คนรับใช้ที่ญาติมิตรให้นำของขวัญมามอบให้ เรียกว่า "ลี่" หรือ "จิ้งเส่อ" ซึ่งหมายถึง อาศัยแรงงาน หรือไหว้วานด้วยความนับถือ
อั่งเปา คือ เงินโบนัส ที่เถ้าแก่หรือเจ้าของกิจการมอบให้พนักงานในช่วงเทศกาลตรุษจีน และที่พิเศษคือ ในวันเปิดงานวันแรกของปีหลังวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน พนักงานจะได้รับอั่งเปาเป็นขวัญ กำลังใจในการเริ่มต้นทำงานในขวบปีใหม่
อั่งเปา ในงานแต่งงาน เป็นของขวัญในแทบจะทุกขั้นตอน เงินค่าสินสอดนั้นจะใส่ไว้ในซองหรือ ผ้าสีแดง ขนมไหว้ต่างๆ ย้อมเป็นสีแดง เมื่อเจ้าบ่าว เจ้าสาวยกน้ำชาคารวะ ญาติก็จะให้ทองหรือซองอั่งเปาเป็นของขวัญในการเริ่มชีวิตคู่
อั่งเปา เครดิตการ์ด อั่งเปาได้มีการพัฒนามาจนถึงขั้นเป็นอั่งเปาเครดิตการ์ด ในเทศกาลตรุษจีน พ.ศ.2545 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 เด็กๆในเซี่ยงไฮ้ได้รับอั่งเปาในรูปแบบใหม่เป็นบัตรพลาสติกแทนที่จะเป็นเงินสด เมื่อธนาคารไชน่าเอเวออร์ไบรต์จับมือกับศูนย์ยุวชนเซี่ยงไฮ้ จัดทำโครงการ "สัญญาเงินพกกระเป๋า" ให้ผู้ปกครองมอบ เครดิตการ์ดอั่งเปา ให้แก่ ลูกหลาน โดยมีเด็กในโครงการประมาณ 50,000 คนในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนับเป็นผลดีทั้งต่อผู้ปกครองและเด็กในการบริหารเงินให้คุ้มค่าด้วยตนเอง เด็กๆจะได้ทราบว่าตนได้อั่งเปามาเท่าใด และใช้จ่ายเท่าใด โดยเด็กจะนำเครดิตการ์ดไปซื้อของแล้วหักผ่านบัญชีของโครงการ "เซี่ยงไฮ้" เป็นเมืองทันสมัยและต้องการช่วยปลูกฝังนิสัยการบริโภคใหม่ๆ และความคิดด้านการเงินให้เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งหาเงินไม่ได้ในโรงเรียน ซึ่งทั้งผู้ปกครองและนักเรียนต่างพอใจในโครงการนี้
ข้อมูลจาก www.lib.ru.ac.th